ขนาดตัวอักษร เล็ก ปกติ ใหญ่

คำถามที่พบบ่อย

คำถาม : การดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์มีวิธีการดำเนินการอย่างไร

คำตอบ : 

การขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์จะต้องปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ประกอบระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยวิธีดำเนินการขอจัดตั้งสหกรณ์ พ.ศ.2547 ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และผู้ขอจัดตั้งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งกำหนดไว้ 7 ขั้นตอน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://yala.web.cpd.go.th/และสามารถสอบถามข้อมูลการจัดตั้งสหกรณ์โดยตรงได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยะลา ที่ตั้ง 21 ถนนวงเวียน 2 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000 โทรศัพท์ : 0 7321 2539 โทรสาร : 0 7321 2539  อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

คำถาม : "ความแตกต่างระหว่าง สหกรณ์ และห้างหุ้นส่วน/ บริษัท จำกัด"

คำตอบ :

1. วัตถุประสงค์ สหกรณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการและช่วยเหลือแก่สมาชิกสหกรณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนอื่นๆ จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอกและเน้นผลกำไรขงผู้บริหารเป็นที่ตั้ง

2.ลักษณะการรวม สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้มีกำลังทรัพย์น้อย ไม่อาจถือเอาทุนเป็นหลักในการรวมได้ สหกรณ์ถือว่าการรวมคนเป็นหลักสำคัญ และเพื่อให้กลุ่มคนที่รวมกันมีกำลังเข้มแข็ง สหกรณ์จึงต้องมีการกำหนดและคัดเลือกลักษณะตลอดจนคุณสมบัติของสมาชิกที่จะเข้าร่วมในสหกรณ์ ส่วนในบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนั้นถือหลักการรวมทุนเป็นสำคัญ บุคคลทีมีเงินสามารถเข้าถือหุ้นของบริษัทได้ ไม่เลือกว่าบุคคลนั้นจะมีลักษณะอย่างไร การรวมกันในสหกรณ์ เป็นการรวมที่เน้นสมาชิกซึ่งค่อนข้างอ่อนกำลังทรัพย์ให้เข้มแข็งขึ้น และเพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนการรวมกันของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วน เป็นการรวมผู้ที่มีกำลังทรัพย์เข้มแข็งมากอยู่แล้ว ให้มีกำลังเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อทำการค้าหากำไร

3. หุ้นและมูลค่าหุ้น หุ้นของสหกรณ์ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้นไว้ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จึงมีหุ้นที่จะจำหน่ายให้แก่สมาชิกใหม่อยู่เสมอ ราคาหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ มูลค่าหุ้นของสหกรณ์ มักกำหนดไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทรัพย์น้อยเข้าเป็นสมาชิกได้ สำหรับหุ้นของบริษัทจำกัด กฎหมายบังคับให้ต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้น และต้องมีผู้จองหุ้นไว้ครบจำนวนก่อนขอจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทด้วยเหตุนี้ ถ้ากิจกรรมของบริษัทสามารถจ่างเงินปันผลได้สูง ก็จะมีผู้ต้องการซื้อหุ้นของบริษัท มูลค่าก็อาจขึ้นลงได้เหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นของบริษัทมักกำหนดไว้สูงเพื่อให้เงินทุนตามจำนวนที่ต้องการโดยคนถือหุ้นจะมีจำนวนมากหรือน้อยไม่ถือเป็นข้อสำคัญ

4. การควบคุมและการออกเสียง สหกรณ์ถือหลักการรวมคนจึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคลเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้สมาชิกของสหกรณ์ทุกคนไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยย่อยมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนให้สหกรณ์ได้คนละหนึ่งเสียงเหมือนกัน ยกเว้นผู้แทนสหกรณ์ในระดับชุมนุมสหกรณ์อาจให้มีเสียงเพิ่มขึ้นตามระบบสัดส่วนตามที่กำหนดในมาตรา 106 ข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์ก็ได้ และสมาชิกต้องมาใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเอง จะมอบให้บุคคลอื่นมาออกเสียงแทนไม่ได้ ดังนั้น อำนาจในสหกรณ์จึงตกอยู่กับเสียงข้างมากของสมาชิก ส่วนบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วน ซึ่งถือหลักการรวมทุนจึงให้ความเคารพในเงินทุนค่าหุ้นเป็นสำคัญ โดยการให้สิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถือ และยังสามารถมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาออกเสียงแทนได้ อำนาจในบริษัทจึงตกอยู่กับผู้ถือหุ้นมาก

5. การแบ่งกำไร จากการที่สมาชิกทำธุรกิจซื้อขายกับสหกรณ์จึงทำให้เกิดกำไรหรือเงินส่วนเกินขึ้น ดังนั้นการแบ่งกำไรของสหกรณ์จึงเท่ากับการจ่ายคือส่วนที่สหกรณ์รับเกินให้สมาชิกในรูปการจ่ายเงินเฉลี่ยคืน ตามส่วนแห่งปริมาณธุรกิจที่สมาชิกทำกับสหกรณ์และจำนวนหุ้นที่ถือ สำหรับบริษัทจำกัดจะทำการติดต่อซื้อขายกับบุคคลภายนอกสมาชิกบริษัทลงทุนถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงถือหลักการแบ่งเงินปันผลตามหุ้นที่ถือ ไม่ได้คำนึงถึงว่าผู้ถือหุ้นจะมีการติดต่อซื้อขายกับบริษัทหรือไม่

คำถาม : คุณสมบัติของสหกรณ์ที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ มีอะไรบ้าง

คำตอบ : 

คุณสมบัติของสหกรณ์ที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ

1. มีผลการดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. ต้องมีข้อมูลย้อนหลัง (งบการเงิน) เพื่อการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 3 ปี

3. ถ้าเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่เคยได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติมาแล้ว จะต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากปีที่ได้รับรางวัล จึงมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกได้  เช่น ได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติปี 2557 ต้องปี 2563 จึงส่งเข้ามาร่วมคัดเลือกใหม่ได้

4. ต้องเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านระดับได้มาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในปีล่าสุดก่อนเข้ารับการคัดเลือก

5. ในปีล่าสุดก่อนเข้ารับการคัดเลือกสหกรณ์ต้องไม่มีข้อบกพร่อง และไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี

คำถาม : การคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ มีหลักเกณฑ์อย่างไร

คำตอบ : 

วิธีคัดเลือก

1. การให้คะแนนการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ กำหนดคะแนนเต็มไว้ 1,000 คะแนน แบ่งออกเป็น 5 หมวดดังนี้

      (1) ความคิดริเริ่ม 100 คะแนน

      (2) ความสามารถในการบริหารและการจัดการสหกรณ์ 350 คะแนน

      (3) บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสหกรณ์ 250 คะแนน

      (4) ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสหกรณ์ 150 คะแนน

      (5) การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 150 คะแนน 

2. การประเมินสหกรณ์ที่เข้ารับการคัดเลือก จะใช้วิธีการให้คะแนนเพื่อจัดลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย โดยคัดเลือกสหกรณ์แต่ละประเภทที่ได้คะแนนรวมมากที่สุด ซึ่งสหกรณ์จะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดตามข้อ 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

วิธีการพิจารณาให้คะแนน

          ประเมินข้อมูลสหกรณ์ที่เข้ารับการคัดเลือกจากแบบกรอกข้อมูลและเอกสารประกอบ โดยพิจารณาให้คะแนนแต่ละข้อในหมวดการคัดเลือก ทั้ง 5 หมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 ความติดริเริ่ม 100 คะแนน

          การนำเสนอโครงการ/กิจกรรม ในหมวดที่ 1 ความคิดริเริ่ม ต้องนำเสนอให้ครบ 3 โครงการ/กิจกรรม และเป็นโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในรอบ 3 ปี บัญชีย้อนหลัง และดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากโครงการแล้ว

การพิจารณาการให้คะแนน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 

          ส่วนที่ 1 ลักษณะโครงการ/กิจกรรม คะแนนเต็ม 25 คะแนน

          ส่วนที่ 2 คุณภาพของโครงการ/กิจกรรม คะแนนเต็ม 75 คะแนน

หมวดที่ 2 ความสามารถในการบริหารและการจัดการของสหกรณ์ 350 คะแนน

2.1 ความสามารถในการบริหารงาน  คะแนนเต็ม 160 คะแนน

2.2 ความสามารถในการจัดการสหกรณ์ คะแนนเต็ม 140 คะแนน

2.3 การควบคุมภายใน คะแนนเต็ม 50 คะแนน

หมวดที่ 3 บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสหกรณ์ 250 คะแนน

3.1 ความรู้ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิก และคณะกรรมการดำเนินการ คะแนนเต็ม 100 คะแนน

3.2 การมีส่วนร่วมของสมาชิกในธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์ คะแนนเต็ม 150 คะแนน

หมวดที่  4  ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสหกรณ์  150 คะแนน

4.1 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์  (เท่า) 20 คะแนน

4.2 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทุนของสหกรณ์  (%) 20 คะแนน

4.3 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน  (%) 20 คะแนน

4.4 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์  (%) 20 คะแนน

4.5 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทุนหมุนเวียน  (เท่า) 20 คะแนน

4.6 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราลูกหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด  (%)  20 คะแนน

4.7 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน  (เท่า) 15 คะแนน

4.8 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตของหนี้  (%) 15 คะแนน

หมวดที่  5  การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ   150 คะแนน

 5.1 การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์  คะแนนเต็ม 115 คะแนน  แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ

          5.1.1 กิจกรรมสาธารณประโยชน์ (ให้แก่บุคคลภายในสหกรณ์) ในด้านการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสหกรณ์/ครอบครัวสมาชิก กรรมการสหกรณ์ และพนักงานสหกรณ์ คะแนนเต็มจำนวน 75 คะแนน

           5.1.2 กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ เพื่อสังคมและชุมชน (ให้แก่บุคคล/ชุมชนภายนอก) คะแนนเต็มจำนวน 40 คะแนน

 5.2 กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  คะแนนเต็มจำนวน 35 คะแนน

 
  • ฮิต: 413