ขนาดตัวอักษร เล็ก ปกติ ใหญ่

ประเภทสหกรณ์

สหกรณ์ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

ban coop006

ban coop008

              สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ผู้มีอาชีพทางการเกษตรรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อน ในการประกอบอาชีพของสมาชิกและช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น

ประวัติความเป็นมา
              สหกรณ์การเกษตรแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์” ในจังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์การเกษตรชนิดไม่จำกัด มีขนาดเล็กในระดับหมู่บ้านตั้งขึ้นในหมู่เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำและมี หนี้สินมาก มีสมาชิกแรกตั้งจำนวน 16 คน มีทุนดำเนินงานจำนวน 3,080 บาท จากค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเป็นทุนจากการกู้แบงค์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) 3,000 บาท

วัตถุประสงค์
               สหกรณ์การเกษตรดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือส่วนรวม โดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามตามพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและส่วนรวม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์  ทำไมต้องจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเนื่องจากในการประกอบอาชีพของเกษตรกร มักประสบปัญหาต่างๆ ที่สำคัญๆ ดังนี้
1. ขาดแคลนเงินทุน เงินทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพมีไม่เพียงพอ ต้องกู้ยืมจากพ่อค้าหรือนายทุนในท้องถิ่น ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยแพง
2. ขาดแคลนที่ดินทำกิน เกษตรกรบางรายมีที่ดินทำกินน้อย บางรายไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินผู้อื่นทำกิน โดยเสียค่าเช่าแพงและ
ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการเช่า
3. ปัญหาในเรื่องการผลิต เกษตรกรขาดความรู้เกี่ยวกับการผลิตสมัยใหม่ที่ถูกต้อง เช่น การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงยาปราบศัตรูพืช พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ทำให้ผลผิตที่ได้รับต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน นอกจากนั้นผลผิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ และไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ขาดปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบชลประทาน
4. ปัญหาการตลาด เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องการชั่งตวง วัดและมีความจำเป็นต้องจำหน่ายผลผลิตตามฤดูกาล เนื่องจากไม่มีที่เก็บรักษาผลผลิต
จึงถูกกดราคาจากพ่อค้าเป็นเหตุให้ไม่มีรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวปัญหาทางเศรษฐกิจข้างต้น มีผลกระทบต่อสังคมในชุมชน ทำให้คุณภาพชีวิต
และฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าคนประกอบอาชีพอื่น ขาดการศึกษา การอนามัย และขาดความปลอดภัยในทรัพย์สิน

สหกรณ์ช่วยท่านได้อย่างไร
              จากปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่ทั่วไป ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นเรื่องยากที่เกษตรกรแต่ละคน จะแก้ปัญหาได้สำเร็จตามลำพังตนเอง หนทางที่จะสำเร็จได้
โดยเกษตรกรจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์และจดทะเบียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้เพราะสหกรณ์สามารถ
ช่วยแก้ปัญหาด้านต่างๆได้ดังนี้
1. ธุรกิจการซื้อ คือการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเช่น ปุ๋ยยาปราบศัตรูพืชเมล็ดพืชและสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิกโดยจะสำรวจความต้องการของสมาชิกก่อนแล้วสหกรณ์จะเป็นผู้จัดหามาจำหน่ายต่อไปซึ่งเพราะการรวมซื้อในปริมาณมาก จะทำให้ซื้อได้ในราคาที่ต่ำลง และเมื่อถึงสิ้นปีหากสหกรณ์มีกำไรก็จะเงินจำนวนนี้มาเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกด้วย
2. ธุรกิจขายหรือการรวบรวมผลผลิต ให้แก่สมาชิกทำให้มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ผลผิตจะขายได้ในราคาสูง สมาชิกไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าในเรื่องการชั่ง ตวง วัด หรือถูกกดราคาในการรับซื้อผลผลิต
3. ธุรกิจธนกิจ (สินเชื่อ)
           (1) การให้เงินกู้เมื่อเกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน หน่วยงานของทางราชการและบุคคลทั่วๆ ไป
โดยสหกรณ์จะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาให้สมาชิกกู้ไปลงทุนเพื่อการเกษตร ซึ่งสหกรณ์จะพิจารณาจากแผนดำเนินการหรือแผนการใช้เงินกู้ของสมาชิกประกอบ
การให้เงินกู้ เช่น สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อนำไปซื้อวัสดุการเกษตรค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครอบครัว หรือเพื่อนำไปบุกเบิกปรับปรุงที่ดิน หรือจัดซื้อที่ดินการเกษตรในกรณีที่สมาชิกไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีน้อยไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร
           (2) การรับฝากเงิน เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักและเห็นคุณค่าประโยชน์ของการออมทรัพย์และเพื่อเป็นการระดมทุนในสหกรณ์สหกรณ์จะรับเงินฝากจากสมาชิก 2 ประเภท คือ เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ โดยสหกรณ์จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์
4. ธุรกิจการส่งเสริมอาชีพและบริการสหกรณ์  อาจจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านการเกษตรคอยให้ความรู้และคำแนะนำทางด้านการเกษตร หรืออาจขอความร่วมมือจากหน่วยราชการอื่น ในการให้คำปรึกษาแนะนำให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในหลักวิชาการแผนใหม่ตลอดจนการวางแผนการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านสหกรณ์ทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
5. การศึกษาอบรม สหกรณ์จะจัดให้มีการศึกษาอบรมแก่สมาชิก คณะกรรมการสหกรณ์ผู้จัดการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงหลักการ วิธีการสหกรณ์สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลสหกรณ์ช่วยให้เกษตรกรที่อยู่ในชุมชน หรือสังคมนั้นมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมมีความสุข บุตรหลานสมาชิกได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีสุขภาพอนามัยที่ดีเนื่องจากเกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ban coop019

ban coop020

สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงแต่ละคน ไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ตามลำพังบุคคลเหล่านี้
จึงรวมตัวกันโดยยึดหลักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ประวัติความเป็นมา
          สหกรณ์ประมงแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ชื่อว่า “สหกรณ์ประมงพิษณุโลก จำกัด” ในท้องที่ลำคลองกระบังโป่งนก อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกเป็นสหกรณ์ประมงประเภทน้ำจืด มีสมาชิกแรกตั้งจำนวน 54 คน สหกรณ์ได้ดำเนินการจัดสรรที่ทำกินให้สมาชิกช่วยเหลือสมาชิกในด้านการจำหน่าย การแปรรูป สัตว์น้ำ ขออนุญาตสัมปทานให้สมาชิกจับสัตว์น้ำได้โดยสะดวก แนนำเทคนิคการจับสัตว์น้ำ และละเว้นการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้ขนาดเพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี จนถึงปี พ.ศ. 2513 ทางราชการมีนโยบายให้คลองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรเป็นที่สาธารณะ การจับสัตว์น้ำเป็นไปโดยเสรี การดำเนินงานสหกรณ์จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปัจจุบันสหกรณ์นี้ได้ควบเข้ากับ “สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด” สำหรับการจัดตั้งสหกรณ์ประมงประเภทน้ำเค็มได้เริ่มจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 ชื่อว่า “สหกรณ์ประมงกลาง จำกัด” ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาทุนจำหน่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์แปรรูป จัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือประมง

วัตถุประสงค์
1. รวบรวมสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากสมาชิกมาจัดการขายหรือแปรรูปออกขายเพื่อให้ได้ราคาดี
2. จัดหาวัสดุสิ่งของ รวมทั้งบริการที่ใช้ในการประมง และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย
3. ให้เงินกู้แก่สมาชิก
4. รับฝากเงินจากสมาชิก
5. เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและธุรกิจเกี่ยวกับการประมง
6. ให้การสงเคราะห์ตามควรแก่สมาชิกและครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติในการประกอบอาชีพ

 สหกรณ์ช่วยท่านได้อย่างไร
ชาวประมงมักจะประสบปัญหาต่างๆ ดังนี้
1. ขาดแคลนเงินทุน การประกอบอาชีพทางการประมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงทะเลต้องลงทุนสูง มีการเสี่ยงต่อการลงทุนมากกว่าการประกอบอาชีพการเกษตรอื่น ๆ ชาวประมงส่วนใหญ่จะกู้เงินจากนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของแพปลาในท้องถิ่นมาเป็นทุนดำเนินงาน โดยมีข้อผูกพันที่จะต้องขายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้เจ้าของแพปลานั้น  ๆ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องถูกกดราคารับซื้อเป็นอย่างมาก
2. ขาดเทคนิคในการเพาะเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันปริมาณความต้องการสัตว์น้ำเพื่อบริโภคในประเทศและส่งจำหน่ายต่างประเทศ มีมากขึ้นเป็นผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพิ่มจำนวนไม่ทันกับความต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวประมงจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
3. วัสดุอุปกรณ์การประมงมีราคาสูงมาก รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการออกเรือก็มีราคาสูงด้วย
4. ขาดความรู้ในด้านการจัดการ ชาวประมงส่วนใหญ่ขาดความรู้ในด้านการจัดการ การจำหน่าย ตลอดจนการหาตลาด เป็นต้นจะเห็นได้ว่าถ้านำหลักการและวิธีการดำเนินงานของสหกรณ์มาใช้สหกรณ์ประมงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆข้างต้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้และจะช่วยให้ชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ทัดเทียมผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ

สหกรณ์ประมงจะช่วยสมาชิกได้อย่างไร?  สหกรณ์ประมงจะจัดบริการต่างๆ ให้สมาชิก ดังนี้
1. ธุรกิจการขายหรือการรวบรวมผลผลิตให้แก่สมาชิก ทำให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ผลผลิตจะขายได้ราคาสูงขึ้น
2. ธุรกิจการซื้อ หรือการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก โดยจะสำรวจความต้องการของสมาชิกก่อนแล้วสหกรณ์จะเป็นผู้จัดหามาจำหน่ายต่อไปซึ่งจะทำให้สหกรณ์สามารถซื้อวัสดุในราคาที่ถูกกว่าที่สมาชิกแต่ละคนจะซื้อเอง
3. ธุรกิจการธนกิจ
               (1) การให้กู้เงิน สหกรณ์จะจัดหาเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมาให้สมาชิกกู้ไปลงทุนทำการประมงโดยสหกรณ์จะพิจารณาจากแผนการดำเนินงาน หรือแผนการใช้เงินกู้ของสมาชิกประกอบการให้เงินกู้
               (2) การรับเงินฝาก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักและเห็นคุณประโยชน์ของการออมทรัพย์และเพื่อให้เป็นการระดมทุนในสหกรณ์สหกรณ์จะรับฝากเงินจากสมาชิก 2 ประเภท คือ เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำโดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์
4. ธุรกิจการบริการ สหกรณ์ประมงที่มีทุนดำเนินงานมากอาจจัดให้มีธุรกิจการบริการแก่สมาชิก เช่น การจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและเพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสมาชิกให้มากที่สุด
5. ธุรกิจการส่งเสริมการประกอบอาชีพ สหกรณ์อาจจะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญด้านการประมง หรืออาจขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการอื่นในการให้การศึกษา แนะนำส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประมงตามหลักวิชาการแผนใหม่ตลอดจนให้มีความรู้ในด้านการวางแผนการประกอบอาชีพการประมง ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณตรงกับความต้องการของตลาดอีกด้วย
6. ธุรกิจการให้การศึกษาอบรม สหกรณ์จะจัดให้มีการศึกษาอบรมแก่สมาชิกคณะกรรมการดำเนินการผู้จัดการตลอดจนเจ้าหน้าที่สหกรณ์เพื่อจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทราบถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ

 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 ban coop021

ban coop022

              ที่ดิน นับเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพทางการเกษตร มีเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อยไม่เพียงพอกับการเพาะปลูก ต้องเช่าที่ดินจากนายทุนมาทำกิน โดยยอมเสียค่าเช่าราคาแพง และเมื่อรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินและมีฐานะยากจนเรื้อรังจนยากที่จะสร้างตัวเองให้มีฐานะมั่นคงได้ ดังนั้นจึงมีเกษตรกรจำนวนมิใช่น้อยใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการบุกรุกเข้าไปทำกินในที่สาธารณประโยชน์และที่สงวนแห่งชาติโดยพลการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังเป็นการทำลายป่าไม้และต้นน้ำลำธาร อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าของชาตินับเป็นผลเสียต่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและก่อให้เกิดปัญหาฝนแล้งหรืออุทกภัย ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวมอย่างมากมาย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพทางเกษตรแต่ขาดแคลนที่ดินเหล่านั้น ให้ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินในขนาดที่เหมาะสมเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์เกี่ยวกับที่ดินขึ้น เพราะเห็นว่าสหกรณ์เป็นระบบเศรษฐกิจที่สมาชิกจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


สหกรณ์นิคม
             สหกรณ์นิคมเป็นสหกรณ์ประเภทหนึ่ง มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับสหกรณ์การเกษตรคือ มีการดำเนินธุรกิจที่ให้บริการแก่สมาชิกคล้ายคลึงกัน เช่น ด้านสินเชื่อจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งของที่จำเป็น แปรรูปและส่งเสริมการเกษตรแต่มีส่วนที่แตกต่างกัน คือเรื่องที่ดิน เพราะสหกรณ์การเกษตรมักจัดตั้งในพื้นที่ที่เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองอยู่แล้วจะมีเกษตรกรที่เช่าที่ดินผู้อื่นทำกินบ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนในสหกรณ์นิคม รัฐเป็นเจ้าของที่ดินในครั้งแรกแล้วจึงนำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรในภายหลังเหตุที่รัฐสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในนิคม เนื่องจากรัฐมีความประสงค์จะส่งเสริมราษฎรที่เข้ามาอยู่ในนิคม ให้มีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคงและมีรายได้สูงขึ้น สามารถดำรงชีพครอบครัวอยู่ได้ตามอัตภาพ และมีสถาบันของตนเองในการเป็นสื่อกลางที่จะให้บริการด้านความสะดวกต่างๆแก่สมาชิกซึ่งทางราชการมีนโยบายที่จะจัดสหกรณ์นิคมให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจในรูปอเนกประสงค์โดยมีรัฐเป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สหกรณ์นั้นดำเนินธุรกิจตามแผนงานและระเบียบข้อบังคับ เพื่อจะได้บังเกิดผลดีแก่สมาชิกหากจำเป็นต้องมีการตรวจสอบควบคุม

สหกรณ์นิคมคืออะไร
สหกรณ์ภาคการเกษตรในรูปแบบหนึ่งที่มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร การจัดสร้างปัจจัยพื้นที่ฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งกิจกรรมให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า สหกรณ์นิคม มีงานหลัก 2 งาน คือ
(1) งานจัดที่ดิน
(2) งานจัดสหกรณ์

งานจัดที่ดิน
งานจัดที่ดินเป็นงานที่ดำเนินการโดยรัฐดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่ดินมาปรับปรุงสภาพแล้วจัดสรรให้ราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินได้เข้าไปทำกินและอาศัยและจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ที่ดินและที่อยู่อาศัย เช่น ถนน แหล่งน้ำ โรงเรียน สถานีอนามัย ตลาดฯลฯ เป็นต้น ซึ่งแบ่งขั้นตอนการดำเนินการได้ดังนี้
1. การจัดหาที่ดิน การจัดหาที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรทำการเกษตร โดยวิธีการสหกรณ์นั้นสามารถแบ่งออกได้ 3 แบบ คือ
            1.1 การจัดที่ดินในรูปของนิคมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์อาศัยพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เป็นหลักในการปฏิบัติกล่าวคือ
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะประสานงานกับคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน เพื่อขอรับพื้นที่ที่คณะกรรมการฯ ได้จำแนกไว้เป็นที่จัดสรรเพื่อการเกษตรนำมาจัดสรรให้ราษฎรเข้าทำกิน
            1.2 การจัดที่ดินในรูปสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน รัฐจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้ราษฎร โดยคำนึงถึง
ความเดือดร้อนหรือความต้องการของราษฎรและราษฎรดังกล่าว ไม่สามารถจัดซื้อที่ดินด้วยกำลังทรัพย์หรือความสามารถของตนได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงทำหน้าที่จัดหาที่ดินแปลงใหญ่หรือแปลงเล็กแปลงน้อยแต่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน เพื่อนำมาให้สหกรณ์ได้เช่าหรือเช่าซื้อตามกำลังความสามารถของสมาชิกผู้ได้รับจัดสรรการจัดที่ดินลักษณะนี้ อาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะของเช่าทรัพย์หรือเช่าซื้อเป็นหลักปฏิบัติ นอกจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว นับแต่ปี2518เป็นต้นมา พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ยังครอบคลุมมาถึงสภาพที่ดินที่รัฐได้มาในลักษณะนี้ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2518 ด้วย
            1.3 การจัดที่ดินในรูปสหกรณ์เช่าที่ดิน สืบเนื่องมาจากที่สงวนหวงห้ามของรัฐที่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทั้งในสภาพที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าตามมติของคณะรัฐมนตรี (ป่าเตรียมการสงวน)ถูกรา ษฎรเข้าไปบุกรุกทำกินจนเต็มพื้นที่ และรัฐไม่สามารถฟื้นฟูสภาพป่าให้ คงเดิมได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมป่าไม้จึงเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบที่ที่มีสภาพดังกล่าวให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร นำที่ดินไปจัดสรรให้แก่ราษฎร การจัดที่ดินลักษณะนี้ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507

             อนึ่งตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง เพื่อจัดสรรให้แก่ราษฎรทำการเกษตร โดยมีพระราชดำริว่าควรจัดสรรให้ราษฎรเช่าและตกทอดทางมรดกไปยังลูกหลานต่อไป เพื่อมิให้การโอนซื้อขายกันจนทำให้ที่ดินตกไปอยู่แก่ผู้ที่มิได้ประกอบอาชีพทางการเกษตร ที่ดินจำนวนนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำมาจัดสรรให้ราษฎรในรูปสหกรณ์การเช่าที่ดินตามพระราชประสงค์ด้วย

2. การวางผังและปรับปรุงที่ดิน
              ทางราชการจะดำเนินการสำรวจสภาพทั่วๆไปในพื้นที่โครงการที่จะจัดตั้งนิคมสหกรณ์เพื่อที่ให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่สภาพภูมิอากาศแหล่งน้ำ การคมนาคม ตลอดจนลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับประกอบการพิจารณาจัดตั้งนิคมสหกรณ์และเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาสหกรณ์ต่อไป  เมื่อเห็นว่ามีลู่ทางที่จะปรับปรุงที่ดินดังกล่าวได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้งหนึ่ง หากเห็นสมควรในการใช้ที่ดิน และการขนส่งสาธารณูปโภคควรทำอย่างไรบ้าง บริเวณไหนควรจะปลูกอะไรจึงจะเหมาะสมกับลักษณะและสมรรถนะของดิน ควรจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละกี่ไร่ จึงจะมีรายได้พอแก่การครองชีพ งานต่าง ๆ ที่ต้องทำในขั้นนี้เป็นงานด้านวิชาการ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ที่ดินมากหรือน้อยเกินไปเหล่านี้เป็นต้น เมื่อได้วางแผนผังการใช้ที่ดินแล้ว ทางการดำเนินการสร้างบริการสาธารณะตามผังที่กำหนดไว้ เช่น ถนนการชลประทาน โรงเรียน สถานีอนามัย และรวมถึงการสำรวจแบ่งแปลงที่ดินเพื่อเตรียมไว้จัดสรร
3. การคัดเลือกราษฎรเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับการจัดสรรที่ดิน
          3.1 การจัดที่ดินในรูปของนิคมสหกรณ์ เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์แล้ว คณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกนิคม โดยยึดหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มีดังนี้
(1) เป็นเกษตรกร บรรลุภาวะ และมีสัญชาติไทย
(2) เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต และมีความประพฤติดี
(3) ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ
(4) ไม่เป็นบุคคลล้มลาย หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว
(5) มีร่างกายสมบูรณ์ไม่เป็นบุคคลทุพพลภาพ หรือวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(6) ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีเพียงเล็กน้อยไม่พอแก่การครองชีพ
(7) ไม่เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์อื่น และสมัครใจเป็นสมาชิก

เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกได้คัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์แล้วจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ โดยถือลำดับก่อนหลังดังต่อไปนี้
(1) มีหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง (ส.ค.1) อยู่ในเขตจัดนิคมสหกรณ์และยินยอมเวนคืนที่ดินให้แก่ทางราชการโดยไม่ขอรับเงินค่าชดเชยแต่อย่างใด
(2) บุคคลที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่อาศัยทำกินอยู่ในที่ดินเขตจัดนิคมสหกรณ์ก่อนวันประกาศรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์
(3) บุคคลที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่อาศัยทำกินในท้องที่จัดนิคมสหกรณ์
(4) บุคคลซึ่งส่วนราชการต่างๆ ส่งมา
(5) บุคคลซึ่งเป็นทหารผ่านศึกหรืออาสาสมัคร
(6) บุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ (1)-(5)

             การจัดสมาชิกนิคมสหกรณ์เข้ามาทำกินในที่ดินจัดสรรกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเรียกสมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้ผ่านการคัดเลือกตามลำดับจากสูงไปหาต่ำ
ตามจำนวนแปลงที่ดินที่สามารถจัดสรรให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ได้โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากที่ดิน
ตามที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อครองชีพ พ.ศ.2511 บัญญัติไว้
             3.2 งานที่ดินในส่วนที่รัฐจัดซื้อ ในทางปฏิบัติเมื่อกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดซื้อที่ดินมาแล้ว จะมอบให้สหกรณ์ในพื้นที่นั้นๆ ดำเนินการตามกำลังความสามารถของสมาชิกซึ่งอาจจัดให้สหกรณ์เช่าหรือซื้อที่ดินราชการหากพื้นที่ที่ดินตั้งอยู่ยังไม่มีการจัดตั้งสหกรณ์กรมส่งเสริมสหกรณ์จะรวบรวมบรรดาผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้เช่าที่ดินจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น ฉะนั้นการคัดเลือกราษฎรเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับการจัดสรรที่ดินในลักษณะนี้จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับหรือเงื่อนไขของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำหนดให้เป็นรายๆ ไป
             3.3 งานจัดที่ดินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับการจัดสรรที่ดินในลักษณะนี้กระทำโดยคณะกรรมการคัดเลือกที่กรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งไว้ โดยสภาพความเป็นจริงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมส่วนใหญ่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์รับมาดำเนินการปรากฏว่า มีราษฎรบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว ในทางปฏิบัติกรมส่งเสริมสหกรณ์จะรวบรวมรายชื่อและรายละเอียดของที่ดินที่ราษฎรเข้าทำมาหากิน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะพิจารณาคัดเลือกโดยอาศัยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคัดเลือกสมาชิสหกรณ์โดยอนุโลม อนึ่ง เกี่ยวกับการจัดที่ดินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนับแต่ปี2522 เป็นต้นมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหลักเกณฑ์การจัดที่ดินเพื่อผ่อนคลายปัญหาของราษฎรผู้บุกรุก รวมทั้งเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการรักษาสภาพป่าให้คงไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ปัจจุบันแนวทางการจัดที่ดินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมดังกล่าวต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและนโยบายของรัฐ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติโดยเป็นผู้ยื่นขออนุญาตแทนสมาชิกที่ถือครองอยู่เป็นการนำที่ดินทั้งแปลงมาจัดสรรตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ต่อไป
4. การได้สิทธิในที่ดินของสหกรณ์
              4.1 งานจัดที่ดินในรูปของนิคมสหกรณ์ การจัดที่ดินลักษณะนี้กฎหมายมุ่งที่จะให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดินหรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว)
หรือสิทธิครอบครอง (น.ส.3) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์นั้นๆ ปฏิบัติครบตามกฎหมายไว้คือ
(1) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ทำประโยชน์ที่ดินแล้ว
(2) เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
(3) ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อย
(4) ชำระหนี้เกี่ยวกับกิจกรรมของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว

                สมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ปฏิบัติครบตาม (1)-(4) กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์นั้นๆ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วสมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้นั้นก็สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3ได้ต่อไป อย่างไรก็ตามกฎหมายยังบัญญัติไว้ว่าภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือน.ส. 3 ผู้ได้มาซึ่งที่ดินจะโอนที่ดินไปให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ดินที่ตนเป็นสมาชิกอยู่และภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีด้วย
               4.2 งานจัดที่ดินในส่วนที่รัฐจัดซื้อ  งานจัดที่ดินลักษณะนี้สมาชิกผู้ได้รับจัดสรรจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ อยู่ที่นโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิก
อยู่ว่าจะจัดในลักษณะของสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ว่าจะจัดในลักษณะของสหกรณ์ผู้เช่าหรือสหกรณ์ผู้เช่าซื้อที่ดิน
               4.3 งานจัดที่ดินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม งานจัดที่ดินลักษณะนี้สมาชิกผู้ได้เพียงสิทธิทำกินตลอดไปเท่านั้น ทางราชการไม่ให้กรรมสิทธิ์อย่างใด  การจัดตั้งและการดำเนินงานเมื่อทางการได้อนุญาตให้ราษฎรที่ได้รับคัดเลือกเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแล้วก็จะมีการรวบรวมราษฎรที่  ได้รับการจัดสรรที่ดินในโครงการจัดตั้งเป็นสหกรณ์และจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ.2542 เป็นประเภทสหกรณ์นิคม

สหกรณ์ช่วยท่านได้อย่างไร
1. เป็นสื่อกลางในการขอรับหรือบริการต่างๆ จากรัฐบาล
2. เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลกับสมาชิกสหกรณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมายเช่น เรียกเก็บเงินเพื่อช่วยทุนของรัฐ
3. เพื่อให้เกษตรกรในนิคมมีสถาบันของตนเอง ที่จะจัดทำและอำนวยบริการในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาสินเชื่อ
4.การรวมกันซื้อ-ขายการส่งเสริมการเกษตรและการฝึกอบรมซึ่งเป็นการเสริมสร้างให้เกิดระบบที่ดีในการจัดหา การผลิต การตลาด โดยสมาชิกของสหกรณ์นิคมเป็นเจ้าของเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ประโยชน์ซึ่งจะทำให้สหกรณ์ นิคม สามารถผนึกกำลังประกอบอาชีพอย่างมั่นคง มีรายได้และมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 ban coop023

ban coop024

               สถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลทีมีอาชีพอย่างเดียวกันหรืออาศัยในที่ชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์
และให้กู้ยืมเงินเมื่อเกิดความจำเป็น หรือเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์งอกเงย และได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

 ประวัติความเป็นมา
             ในภาวะปัจจุบัน ประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่สามารถจะหารายได้เพิ่มให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นและมักจะแก้ไขปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินจากนายทุนโดยยอมเสีย ดอกเบี้ยในอัตราสูง จึงก่อให้เกิดหนี้สินผูกพัน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง และครอบครัวภายหลังบุคคลที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกัน จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน โดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ข้าราชการสหกรณ์และพนักงานธนาคารเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ (ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร”) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2492 โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดสินใช้” ปัจจุบันชื่อว่า “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด”

วัตถุประสงค์
            สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้บุคคลที่เป็นสมาชิกรู้จักการประหยัด รู้จักการออมทรัพย์และสามารถบริการเงินกู้ ให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปใช้จ่ายเมื่อเกิดความจำเป็น โดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่ง ดังนี้
(1) การส่งเสริมการออมทรัพย์ เป็นวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์ออมทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
             1.1 การส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์โดยการถือหุ้น สหกรณ์กำหนดให้สมาชิกส่งชำระค่าหุ้นเป็นประจำทุกเดือนโดนการหักเงินค่าหุ้น ณ ที่จ่ายเงินเดือนและจ่ายเงินปันผลค่าหุ้นให้แก่สมาชิกตามอัตราที่พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ.2542 กำหนดไว้เงินปันผลที่ได้รับนี้ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และเมื่อสมาชิกลาออกจากสหกรณ์ก็สามารถถอนค่าหุ้นคืนได้
             1.2การส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์โดยการรับฝากเงิน สหกรณ์มีบริการด้านเงินฝากทั้งประเภทเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์และให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์ หรือสูงกว่าตามฐานะของแต่ละสหกรณ์
(2)การให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ จะนำเงินค่าหุ้นและเงินฝากของสมาชิกมาหมุนเวียนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นหรือเดือดร้อนกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเอกชน
ลักษณะการให้เงินกู้เงินกู้ที่สหกรณ์จ่ายให้กับสมาชิกมี3 ประเภท คือ
            (1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่สมาชิกมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมีรายจ่ายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สมาชิกสามารถกู้เงินประเภทนี้จากสหกรณ์ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินได้รายเดือน แต่จำกัดขั้นสูงไว้ตามฐานะของแต่ละสหกรณ์และกำหนดส่งชำระคืนไม่เกิน 2 งวดรายเดือน เงินกู้ประเภทนี้ไม่ต้องมีหลักประกัน
           (2) เงินกู้สามัญ สมาชิกสามารถกู้เงินประเภทนี้ได้ประมาณ 4-15 เท่าของเงินได้รายเดือน แต่จะจำกัดขั้นสูงไว้ตามฐานะของแต่ละสหกรณ์และกำหนดส่งชำระคืนระหว่าง 24-72 งวดรายเดือน และต้องมีสมาชิกด้วยกันค้ำประกันอย่างน้อย1คน การกำหนดวงเงินกู้ฉุกเฉินและสามัญ จะใช้เงินเดือนเฉลี่ยของสมาชิกแต่ละสหกรณ์เป็นฐานในการกำหนด ตัวอย่าง เช่น สหกรณ์แห่งหนึ่ง สมาชิกมีเงินเฉลี่ย 10,000 บาท/เดือน ขั้นสูงของวงเงินกู้ฉุกเฉินควรเป็น 5,000 บาท ขั้นสูงของวงเงินกู้สามัญ ควรเป็น 40,000-150,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในการกำหนดระเบียบ
           (3) เงินกู้พิเศษ ถ้าสหกรณ์มีฐานะมั่นคงแล้ว สหกรณ์จะเปิดบริการให้เงินกู้พิเศษเพื่อให้สมาชิกกู้ไปลงทุนในการประกอบอาชีพ หรือกู้ไปเพื่อการเคหะสงเคราะห์เงินกู้ ประเภทนี้สามารถกู้ตามจำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนประกอบอาชีพหรือขึ้นอยู่กับราคาของบ้านและที่ดินที่จะซื้อ หรือจำกัดขั้นสูงไว้ตามที่สหกรณ์กำหนดไว้เป็นคราวๆไป และกำหนดชำระคืน ตั้งแต่10-15 ปีโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักจำนองค้ำประกัน

การดำเนินงาน
            สหกรณ์ออมทรัพย์ดำนินการโดยสมาชิก กล่าวคือ เมื่อได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นแล้ว สมาชิกจะเลือกตั้งตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ให้เข้ามาบริหารงานในสหกรณ์ตัวแทนสมาชิกเหล่านี้เรียกว่า“คณะกรรมการดำเนินการ” มีประมาณ 7-15คน ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นๆคณะกรรมการดำเนินการจะทำหน้าบริหารกิจการสหกรณ์โดยจะมีการประชุม อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายในการทำงาน แล้วจึงมอบให้“ฝ่ายจัดการ” รับไปปฏิบัติงานต่อไป ฝ่ายจัดการนั้นประกอบด้วย ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ สมุห์บัญชีเจ้าหน้าที่การเงินฯลฯซึ่งทำหน้าที่บริการแก่สมาชิกที่มาติดต่อทำธุรกิจกับสหกรณ์

ทุนดำเนินงานของสหกรณ์
1. เงินค่าหุ้น
2. เงินรับฝากจากสมาชิก
3. ทุนสำรองและทุนสะสมอื่นๆ
4. เงินกู้ยืม
5. เงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์
           การเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มี  2 วิธีคือ
(1) กรณีในหน่วยงานหรือชุมชนที่มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์แล้ว ท่านที่มีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกระทำได้โดยการยื่นใบสมัครต่อสหกรณ์
เพื่อสหกรณ์จะนำใบสมัครของท่านเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์พิจารณารับเข้าเป็นสมาชิก เมื่อคณะกรรมการดำเนินการรับท่านเป็นสมาชิกแล้ว ท่านจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้า ประมาณ 20-50 บาท ชำระค่าหุ้นประมาณ 4-5 % ของเงินรายได้และลงรายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก จากนั้นท่านจะมีสิทธิในสหกรณ์เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ สหกรณ์จะจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่ท่าน เป็นประจำทุกปีและเมื่อท่านลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพ ท่านสามารถถอนค่าหุ้นคืนทั้งหมดได้ส่วนค่าธรรมเนียมแรกเข้าสหกรณ์จะไม่จ่ายคืนให้เพราะถือเป็นราบได้ของสหกรณ์อย่างหนึ่ง
(2) กรณีในหน่วยงานหรือชุมชนที่ยังไม่มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ท่านที่สนใจในกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์และมีความประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์
ขึ้นในหน่วยงานหรือชุมชนของท่าน ก็สามารถรวมตัวกัน จัดตั้งสหกรณ์ได้โดยขอคำแนะนำและสอบถามรายละเอียดได้จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนภูมิภาค

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
               สหกรณ์เป็นของสมาชิกและสมาชิกทุกคนมีบทบาทที่จะควบคุมการบริหารงานของสหกรณ์โดยใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก ให้ถูกต้องและสม่ำเสมอการร่วมประชุมใหญ่เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่อ้นสำคัญยิ่งของสมาชิกทุกคนควรจะต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสหกรณ์ซึ่งเป็นโอกาสที่สมาชิกจะแสดงบทบาทรักษาสิทธิและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของตน ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงาน การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยุติธรรม กำหนดนโยบายการดำเนินงานรวมทั้งคัดเลือกกรรมการดำเนินการที่มีความสามารถและมอบภารกิจในการดำเนินการต่อไปใน แนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อมวลสมาชิกเสริมสร้างความเจริญมั่นคงให้กับสหกรณ์ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทุกคนจะต้องร่วมกันอภิปราบปัญหาแสดงความคิดเห็น ออกเสียงและยอมรับมติของที่ประชุม ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายข้อบังคับและระเบียบ เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์
หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ โดยร่วมกันพิจารณา ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้

ข้อควรปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์
ด้านการเงิน
             (1) เมื่อชำระเงินแก่สหกรณ์ต้องชำระต่อเจ้าหน้าที่การเงินที่สหกรณ์แต่งตั้งไว้เท่านั้น และต้องเรียกใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง เช่น การชำระหนี้ก่อนกำหนด การถือหุ้นเพิ่ม
             (2) ควรเก็บใบเสร็จรับเงินทุกฉบับไว้จนกว่าจะได้สอบทานหนี้สินและเงินค่าหุ้นให้ถูกต้องตรงกันเป็นประจำทุกปี
             (3) ควรมารับเงินที่สหกรณ์ด้วยตนเอง ถ้าจำเป็นควรมอบฉันทะแก่ผู้ที่ไว้ใจเท่านั้น
             (4) เมื่อรับเงินจากสหกรณ์ทุกครั้ง ควรตรวจนับจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนออกจากสหกรณ์ไป
             (5) การนำเงินมาฝากกับสหกรณ์สมาชิกต้องยื่นใบฝากเงินพร้อมกับสมุดคู่ฝาก เมื่อรับสมุดคืนให้ตรวจสอบรายมือชื่อผู้มีอำนาจกำกับในสมุดคู่ฝากทุกครั้ง และไม่ควรฝากสมุดคู่ฝากไว้กับพนักงานสหกรณ์

ด้านสินเชื่อ
              (1) ควรกู้เงินจากสหกรณ์ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ และกู้ในจำนวนที่ต้องการใช้เท่านั้น
              (2) จะค้ำประกันใครต้องตัดสินใจให้ดีเพราะถ้าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ผู้ครับประกันจะต้องชำระหนี้แทนโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
              (3) ในกรณีที่สมาชิกสหกรณ์ต้องการรับเงินกู้เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้สมาชิกรับเงินดังกล่าวที่สหกรณ์ด้วยตนเอง ถ้าหากจำเป็นให้ทำหนังสือมอบฉันทะโดยมีผู้บังคับบัญชาลงลายมือชื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ด้วย

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ban coop025

ban coop026

ประวัติความเป็นมา
          ประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งร้านสหกรณ์เมื่อปีพ.ศ. 2480 โดยตั้งขึ้นในหมู่ชาวชนบทของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ร้านสหกรณ์แห่งนี้ต้องเลิกล้ม
ต่อมาได้มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์เพิ่มขึ้นอีกหลายๆ แห่ง  กรมส่งเสริมสหกรณ์มีโครงการส่งเสริมให้ประชาชนจัดตั้งร้านสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และแนะนำส่งเสริมให้ร้านสหกรณ์ทุกจังหวัดขยายสาขาไปยังอำเภอต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยให้ความช่วยเหลือแก่ร้านสหกรณ์ที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถดำเนินงานให้บริการสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพมีปริมาณธุรกิจเพียงพอ และมีฐานะมั่นคง พร้อมกันนั้นก็จะช่วยให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสหกรณ์ทุกประเภท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอันที่จะดำเนินธุรกิจเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  อนึ่งร้านสหกรณ์ที่ดำเนินงานประสบความสำเร็จมักจะเป็นร้านสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในตัวเมืองซึ่งประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และร้านสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นในหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน สำหรับร้านสหกรณ์ในชนบทนั้นมักดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

วัตถุประสงค์
           ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ร้านสหกรณ์คือ สหกรณ์ที่ผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคและรวบรวมผลิตผลผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่สมาชิกและส่งเสริมความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ร้านสหกรณ์โดยทั่วไปจึงมักกำหนดวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานไว้ดังต่อไปนี้
(1) จัดหาสิ่งของและบริการที่สมาชิกมีความต้องการมาจำหน่าย
(2) รวบรวมผลิตผล ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมาจำหน่าย
(3) ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางสหกรณ์ให้แก่สมาชิก
(4) ส่งเสริมสมาชิกให้รู้จักการประหยัด การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการช่วยตนเอง
(5) ร่วมมือกับสหกรณ์และสถาบันอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศในอันที่จะเกื้อกุลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
(6) ดำเนินธุรกิจอย่างอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น

ลักษณะการดำเนินธุรกิจ
               การบริหารธุรกิจหรือกิจการการของร้านสหกรณ์ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสหกรณ์ประเภทอื่นๆ คือ ตั้งอยู่บนรากฐานของประชาธิปไตย
สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร้านสหกรณ์แต่สมาชิกทุกคนจะร่วมกันบริหารกิจการของร้านสหกรณ์ทั้งหมดไม่ได้จึงจำเป็นต้องเลือกตั้งผู้แทนบริหารกิจการแทน
เรียกว่า “คณะกรรมการดำเนินการ” ซึ่งมีจำนวนเท่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ตามปกติจะมีจำนวนระหว่าง 10-15 คน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามขนาด
และปริมาณธุรกิจของแต่ละสหกรณ์
                 คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการทั้งปวงคณะกรรมการดำเนินการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป
ตามกฎหมาย ข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในทางอันสมควร เพื่อให้เกิดผลดีแก่ร้านสหกรณ์และแก่สมาชิก แม้ว่าคณะกรรมการดำเนินการ
จะเป็นผู้ดำเนินกิจการของร้านสหกรณ์ก็ตาม แต่เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ให้บริการแก่สมาชิกและบุคคลผู้สนใจทั่วไปอย่างทั่วถึง
คณะกรรมการดำเนินการควรจัดจ้างผู้จัดการที่มีความรู้ความสามารถในเชิงการค้าและมีความซื่อสัตย์สุจริตมาดำเนินธุรกิจของร้านสหกรณ์นอกจากนี้ผู้จัดการอาจจัดจ้างเจ้าหน้าที่ของร้านสหกรณ์ในด้านต่างๆ ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงปริมาณธุรกิจและการประหยัดเป็นสำคัญ
ร้านสหกรณ์ควรดำเนินการค้ากับลูกค้าทั้งที่เป็นสมาชิกและมิใช่สมาชิกโดยยึดถือกฎของผู้นำแห่งรอชเดล ดังต่อไปนี้
(1) ขายสินค้าตามราคาตลาดหรือถูกกว่าบ้างเล็กน้อย เพื่อมิให้เป็นศัตรูกับร้านใกล้เคียง
(2) จัดหาสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสมาชิกส่วนใหญ่มาจำหน่ายและไม่ปลอมปนสินค้า
(3) เที่ยงตรงในการชั่ง ตวง วัด
(4) จัดซื้อสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพประจำวันมาจำหน่ายให้มากชนิด เพื่อให้สมาชิกเลือกซื้อได้ตามความต้องการ
(5) ขายสินค้าด้วยเงินสด เพื่อช่วยให้ร้านสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนได้คล่องตัว และช่วยให้สมาชิกใช้จ่ายเงินโดยมีเหตุผลเพื่อป้องกันหนี้สูญ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 ban coop041

ban coop042

สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 10 คน ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน ได้รับ ความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันโดย ยึดหลักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ ปัญหาต่างๆ  รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในอาชีพต่อไป 

ความเป็นมา
สหกรณ์บริการแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เป็นการรวมตัว กันในกลุ่มผู้มีอาชีพทำร่ม ชื่อ สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้าง จำกัดสินใช้ อยู่ที่ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี  พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์บริการไฟฟ้าหนองแขม จำกัด อำเภอ หนองแขม กรุงเทพมหานคร เป็นสหกรณ์ที่ให้บริการด้านสาธรณูปโภค และในปี พ.ศ. 2497 จัดตั้งสหกรณ์มีดอรัญญิก จำกัด ที่ตำบลทุ่งช้าง  อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีสหกรณ์บริการ อีกหลายแบบตามมา เช่น สหกรณ์เคหสถาน สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ หัตถกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ สหกรณ์บริการน้ำประปา สหกรณ์ผู้จัดหางาน แห่งประเทศไทย ฯลฯ
  
วัตถุประสงค์
เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการบริการตามรูปแบบของสหกรณ์ ส่งเสริมสวัสดิการ แก่สมาชิกและครอบครัว ส่งเสริมการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกัน และกันในหมู่สมาชิก ร่วมมือกับสหกรณ์อื่นและหน่วยงานอื่นเพื่อความ ก้าวหน้าของกิจการสหกรณ์

ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ
สมาชิกมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาฝีมือการผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด มีแหล่งรวม ซื้อรวม ขายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ ประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อสิ้นปีทางบัญชีถ้าสหกรณ์มี กำไรสุทธิประจำปี สมาชิกสหกรณ์จะได้รับเงินปันผลตามหุ้น และเงิน เฉลี่ยคืนตามส่วนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ban coop043

ban coop044

สหกรณ์อเนกประสงค์ ตั้งขึ้นโดยความสมัครใจของสมาชิกที่อยู่ในวงสัมพันธ์เดียวกัน เช่น อาศัยในชุมชนเดียวกัน ประกอบอาชีพเดียวกัน หรือในสถานที่เดียวกัน หรือมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อการรู้จักช่วยเหลือตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้สมาชิกประหยัดและออม เพื่อการรู้จักช่วยตนเองเป็นเบื้องต้นและเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงแก่ตนเองและครอบครัว

ความเป็นมา
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นอีกสหกรณ์ประเภทหนึ่งตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมคน เพื่อทำกิจกรรมเรื่องการออมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นแห่งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2508 “ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งศูนย์กลางเทวา ” และได้แพร่ขยายการจัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศไทยขึ้นเป็นจำนวนมากภายใต้ปรัชญาและอุดมการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มุ่งจะพัฒนาคนให้ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ รวมทั้งเพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง

ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ
      1.เป็นคนรู้จักประหยัดและออม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจัดตั้งในชุมนุมของสมาชิก สมาชิกของสหกรณ์จึงมีที่สะสมเงินที่สะดวกและรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปฝากเงินที่ไกลๆ แม้มีเงินจำนวนน้อยหรือมากก็ตาม สมาชิกก็สามารถที่จะสะสมได้
      2. ช่วยแก้ไขปัญหาการเงิน เมื่อสมาชิกมีความเดือดร้อนหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินสมาชิกมีสิทธิที่จะขอกู้เงินจากสหกรณ์ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
      3. สร้างความมั่นคงแก่สมาชิกและครอบครัว สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแต่ละแห่งจะจัดให้มีบริการในรูปแบบต่างๆแล้วแต่ความต้องการของสมาชิกและเงินทุนที่สหกรณ์มีอยู่ ซึ่งมีส่วนสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่ครอบครัวและสมาชิก
      4.สามารถพัฒนาชุมชนและสังคม กิจกรรมของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนช่วยให้ประชาชนในชุมชนเกิดการประหยัดและออม เพื่อสร้างกองทุนขึ้นในชุมชน เพื่อช่วยเหลือบำบัดความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้น เพื่อให้รู้จักการแก้ไขและตัดสินใจช่วยเหลือกันในชุมชนของตนเอง เป็นการฝึกผู้นำในชุมชน

  • ฮิต: 464